กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ร่วมกับโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน จัดสัมมนา “บทบาท หน้าที่ ภารกิจ วุฒิสภาและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อประชาชนอย่างไร?” ที่จังหวัดเชียงราย


       วันนี้ (28 ม.ค.66) ที่โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา นำโดย พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน และนายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “บทบาท หน้าที่ ภารกิจ วุฒิสภาและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อประชาชนอย่างไร ?” โดยเชิญประธานและกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้ง 5 องค์กร ได้แก่ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของวุฒิสภาและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่ามีประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างไร และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของวุฒิสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญระดับพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่
     ภายในงานสัมมนาฯ มีการจัดบูธให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนให้แก่ประชาชนด้วย เช่น เรื่องร้องเรียนหากพบการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม การกระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สำหรับบทบาท คณะกรรมาธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ สอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการบริหารจัดการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี ติดตามและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ส่วนโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน เป็นการลงพื้นที่พบประชาชนเพื่อรับฟังและสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากลั่นกรองในการตรากฎหมาย ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขโดยอาศัยกลไกของวุฒิสภาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ
     คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่อาจนำไปสู่การทุจริต คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานของรัฐ วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ให้คำปรึกษา เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน รวมทั้งสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น การออกเสียงประชามติ การสืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ รวมทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครและสมาชิกสภาที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar