คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ลง​พื้นที่​ศึกษา​ดู​งาน และแลกเปลี่ยนความรู้ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ  อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

    วัน​นี้ (28 พ.ค.66)​ คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา นำโดย นายเชิดศักดิ์  สันติวรวุฒิ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญและคณะอนุกรรมาธิการศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อม​คณะ ​เดินทางมาศึกษาดูงาน ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ต.ดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ด้านความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ สืบสานพระราชปณิธาน และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายพันนุมาศ ทองกระจ่าง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ให้การต้อนรับและรายงานข้อมูล​การดำเนินโครงการ​ฯ
       ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2521 เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านสะโงะ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้พระราชทานสิ่งของ ยาชุด เครื่องเขียน แบบเรียนต่างๆ แก่ครู นักเรียน ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ และกรมพัฒนาที่ดินที่ประจำอยู่หมู่บ้านสะโงะ ต่อมาจึงได้มีการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ขึ้น ในปี พ.ศ. 2522 อย่างเป็นทางการ ในรูปแบบงานอาสาพัฒนาชาวเขา โดยความร่วมมือของมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้
      ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ตั้งอยู่เลขที่ 272 หมู่ 7 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ปัจจุบัน​มีประชาชนในความรับผิดชอบ จำนวน 4 หมู่บ้าน รวม 1,105 ครัวเรือน 2,976 คน เป็นชาวอาข่า ไทลื้อ และคนพื้นเมือง การดำเนินงานของศูนย์ฯ มุ่งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ได้แก่ ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP)  อีกทั้งยังส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อนำมาอบแห้ง สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่เกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยน้ำชีวภาพเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรที่สูงแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป
    สำหรับผลิตภัณฑ์หลักของโครงการฯ  ได้แก่ มะเขือม่วงก้านเขียว มะเขือม่วงก้านดำ ผักกาดกวางตุ้ง มะเขือเทศเชอร์รี่แดง ข้าวโพดหวานสองสี มันเทศญี่ปุ่น ฟักทองญี่ปุ่น ขึ้นฉ่าย ซูกินี่ เสาวรสหวาน มะม่วง เคพกูสเบอร์รี อาโวคาโด องุ่น ไผ่ฟิลิปปินส์ ดอกเก๊กฮวย ดอกคาโมมายล์ และหญ้าหวาน 
  ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา จะร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ด้านความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ สืบสานพระราชปณิธาน และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การดำรงชีวิตของประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ชุมชน และเยาวชนในจังหวัดเชียงราย​ ระหว่างวันที่ 28 -​ 30 พฤษภาคม 2566 นี้
         


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar