สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) รับมือภัยแล้งเชิงรุก “กันไว้ดีกว่าแก้” ด้านกรมชลประทานสมัครร่วมโครงการจ้างงานสร้างรายได้ทดแทนช่วงว่างเว้นจากการทำการเกษตร

จากอิทธิพลของสถานการณ์เอลนีโญทำให้ประเทศไทยมีภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติอยู่มาก และคาดการณ์ในครึ่งปีแรกจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติค่อนข้างมาก โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยอยู่ 98 แห่ง โดยในจำนวนนี้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 40 แห่ง ภาคเหนือ 25 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคตะวันตก
9 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง รวมถึงภาคใต้ที่แม้ในภาพรวมจะมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากภาคใต้ตอนบนและตอนกลางยังคงมีฝนตกน้อย ทำให้มีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้มีการรักษาปริมาณน้ำต้นทุนไว้ให้มากที่สุดโดยไม่ประมาท รวมทั้งให้มีการติดตามคาดการณ์ปริมาณฝนแบบรายเดือนเพื่อปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด
.
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีความเป็นห่วงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้ สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะเอลนีโญให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้บูรณาการทำงานในเชิงรุก และดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูแล้งทั้ง 9 มาตรการอย่างเคร่งครัด และให้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพื่อวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหา
ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว พร้อมทั้งได้เน้นย้ำว่าน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคจะต้องเพียงพอตลอดทั้งปี
.
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า สทนช.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำทำงานในเชิงรุกในการรับมือภัยแล้งจากสภาวะเอลนีโญ โดยยึดหลัก “กันไว้ดีกว่าแก้” ซึ่งได้มีการประเมินสถานการณ์ คาดการณ์และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งได้จัดทำแผนในการลงพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแนวทางป้องกันการขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ โดยให้ดำเนินการเป็นรายภาค เนื่องจากแต่ละภาคนั้นมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้วางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว
.
ทั้งนี้ สทนช.ได้ติดตามการดำเนินงานตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น
.
มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ล่าสุดจากการติดตามพบว่าได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้แล้ว 431 เครื่อง เครื่องจักรกลอื่นๆ อีก 137 หน่วย และรถบรรทุกน้ำ 36 คัน)
.
มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำ (มีแผนเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น 507 แห่ง และเตรียมขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2567)
.
มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (ล่าสุดได้จัดสรรน้ำจากอ่างฯขนาดใหญ่ไปแล้ว5,652 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36%
ของแผน ส่วนการปลูกพืชฤดูแล้ง ปลูกไปแล้ว 8.81 ล้านไร่ คิดเป็น 83% ของแผน และยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้)
.
มาตรการที่ 4 บริหารจัดการน้ำ (ขณะนี้คณะกรรมการลุ่มน้ำได้จัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรน้ำเป็นไปตาม 9 กิจกรรมดังนี้ การอุปโภคบริโภค การักษาระบบนิเวศ การบรรเทาสาธารณภัย ประเพณีการคมนาคม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว)
.
มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (ขณะนี้ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืช หลังนาในพื้นที่ต้นแบบ 3 จังหวัดแล้ว 3,730 ไร่
552 ครัวเรือน เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่นำร่อง 15 ไร่ 2 ครัวเรือน และได้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 3,510 ไร่ 175 ครัวเรือน)
.
มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (จากการตรวจสอบล่าสุดทุกพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ)
.
มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ (ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง) เช่นเดียวกับ
.
มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ (ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์)
.
และมาตรการที่ 9 ติดตามและประเมินผล (ได้มีการสรุปสถานการณ์น้ำทุกวัน พร้อมทั้งได้ตรวจติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง)
.
ช่วยเกษตรกรฤดูแล้ง ! “รัฐบาล” เชิญชวนเกษตรกรและประชาชน สมัครร่วมโครงการจ้างงานกับกรมชลประทาน สร้างรายได้ทดแทนช่วงว่างเว้นจากการทำการเกษตร
.
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทนจากการว่างเว้นการทำการเกษตร ด้วยการจ้างแรงงานชลประทาน
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ อาทิ งานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ
.
ในปีนี้มีแผนการขยายจ้างแรงงานเพิ่มประมาณ 9,472 คน ระยะเวลาการจ้างอยู่ระหว่าง 8 เดือน (ตุลาคม 2566 - พฤษภาคม 2567) วงเงินจ้างแรงงานประมาณ 5,154.70 บาท/คน/เดือน โดยเกณฑ์การจ้างแรงงานจะพิจารณากลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไป และ หากแรงงานในพื้นที่มีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ
.
ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานทั่วประเทศไปแล้ว 3,790 คน หรือประมาณ 40% ของแผนฯ โดยจังหวัด ที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ จังหวัดชัยนาท 221 คน จังหวัดพะเยา 214 คน และจังหวัดสุพรรณบุรี 196 คน จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมหรือทดแทนจากการสูญเสียรายได้ด้านการเกษตร ซึ่งขณะนี้ยังคงรับสมัครจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง และยังมีตำแหน่งว่างก่อนครบตามเป้า หากเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือทางสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทาน


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar