กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดA หรือ โรคไข้อีดำอีแดง หรือ "โรคแบคทีเรียกินเนื้อ" ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด

อาการที่พบคือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสาก ๆ หรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามร่างกาย เมื่อสัมผัสแล้วจะมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ๆ ให้รีบไปพบแพทย์ การติดต่อจากคนสู่คน แพร่เชื้อโดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือสัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น

.

กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 5 - 15 ปี ที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ จากข้อ มูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับปี พ.ศ. 2567

.

จากการติดตามข้อมูลยังไม่พบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อนี้มีการเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงในประเทศไทย สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้นการไปพบแพทย์เพื่อรักษาแต่เนิ่น ๆ และได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม จะช่วยให้ลดความรุนแรงของโรค และช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้ ในรายที่อาการเป็นมากอาจต้องทำการผ่าตัดเนื้อตายออก

.

กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้ที่มีรอยโรคที่ผิวหนังมาก่อน การแพร่ระบาดหลักของเชื้อนี้เป็นทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจแพร่โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือหนองจากแผล (ในกรณีมีการติดเชื้อที่ผิวหนัง) ดังนั้นการใช้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้ได้เช่นกัน

.

หากต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรต้องระมัดระวัง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ ช้อน ร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar